HIGHLIGHTS:
- ถุงยางอนามัย มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % หากใช้อย่างถูกวิธี
- ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ HIV 70-87 % ในกลุ่มชายรักชายและมากกว่า 90 % ในกลุ่มคู่รักชายหญิงนอกจากนั้นยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหนองในแท้และเทียม โรคซิฟิลิส ได้ 50-90%
จากข้อมูลสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558-2560
พบ อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 นักเรียน ม.5 ที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ใช้ถุงยางมากถึงร้อยละ 75 ในเพศชาย และร้อยละ 77 ในเพศหญิง ส่วนในนักเรียนอาชีวศึกษาชั้น ปวช.ปี 2 ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกร้อยละ 69.5 ในเพศชาย และร้อยละ 74.6 ในเพศหญิง
แม้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การใช้อย่างสม่ำเสมอยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ด้วยเหตุผลคือ ความไว้วางใจในคู่รักที่คบกันมาระยะนึงเลยหยุดใช้ถุงยางอนามัย ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรค เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส หนองในแท้และเทียม หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและทวารหนัก เริมที่อวัยวะเพศและทวารหนัก แผลริมอ่อน เป็นต้น
ถุงยางอนามัยที่เราเห็นวางขายกัน มักพบแต่ถุงยางของผู้ชายเพราะง่ายต่อการใช้และเป็นค่านิยมที่ถูกทิ้งไว้ให้แต่ฝ่ายชายที่ต้องหามาใส่ จึงทำให้ในประเทศไทยไม่ค่อยพบถุงยางของผู้หญิงวางจำหน่ายมากนัก ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางช่องคลอด ทวารหนัก (anal sex) หรือปาก (oral sex)
Q: ถุงยางอนามัยมีกี่ชนิด
A: ปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์ ส่วนชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว
- ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom) ข้อดีคือ ราคาถูก ยืดหยุ่นได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ การสวมใส่กระชับรัดแนบเนื้อ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการคุมกำเนิดและป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ข้อด้อยคือ ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ เพราะจะทำให้โครงสร้างของน้ำยางเสื่อมลง ส่งผลต่อคุณภาพและการป้องกัน แต่ใช้ได้กับสารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based lubricant)
- ชนิดที่ทำจาก Polyurethane หรือ Polyisoprene (ถุงยางพลาสติก) โดยแก้ไขข้อด้อยของถุงยางจากน้ำยางธรรมชาติ คือ เหนียวกว่า ทนต่อการฉีกขาด เหมาะสำหรับผู้ที่กลัวแพ้ยางพารา สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ และที่สำคัญคือสามารถทำให้บางได้ถึง 01 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย (feels like not wearing anything) แต่ราคาอาจสูงกว่าแบบน้ำยางพารา
Q: เลือกขนาดถุงยางอนามัยอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเรา (คุณผู้ชาย)
A: ถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับแต่ละคน สามารถสังเกตตัวเองได้เมื่ออวัยวะเพศมีการแข็งตัวเกิดขึ้น โดยทั่วไปจะขยายได้ใหญ่กว่าเดิม 3-5 เท่า การแข็งตัวเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำเป็นลำยาวตลอดองคชาตที่เรียกว่า corpora cavernosa เริ่มเต็มไปด้วยเลือดที่ถูกสูบฉีดมาหล่อเลี้ยง เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ
การเลือกขนาดถุงยางอนามัย ควรเลือกให้พอดี ไม่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ฉีกขาดง่าย หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งขนาดของถุงยางจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ โดยวัดจากเส้นรอบวงองคชาต ไม่ใช่ความยาว เพราะถุงยางอนามัยเกือบทุกยี่ห้อ จะทำความยาวมาเท่า ๆ กัน คือประมาณ 6-7 นิ้วเท่านั้น ใครที่มีอวัยวะเพศที่ยาวกว่านี้ก็อาจไม่สามารถครอบได้หมด ถุงยางอนามัย จะบอกเส้นรอบวงเป็นมิลลิเมตร ดังนี้
- ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 11-12 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
- ถุงยางอนามัยขนาด 52 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 12-13 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
- ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 13-14 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
- ถุงยางอนามัยขนาด 56 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 14-15 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป)
Q: ถุงยางอนามัยป้องกันอะไรได้บ้าง
A:
- ช่วยคุมกำเนิด ถุงยางจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % หากใช้อย่างถูกวิธี
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV 70-87 % ในกลุ่มชายรักชายและมากกว่า 90 %ในกลุ่มคู่รักชายหญิง (กลุ่มชายรักชาย ถุงยางอนามัยมีเปอร์เซ็นต์ป้องกันต่ำกว่า เนื่องจากมีการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นหลัก ซึ่งอาจมีการฉีกขาดของทวารหนักระหว่างร่วมเพศ จึงมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV มากกว่าการร่วมเพศแบบปกติของชายหญิง)
- ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหนองในแท้และเทียม โรคซิฟิลิส ได้ 50-90%
Q: ถุงแตก ควรรีบแยกกันและเปลี่ยนถุงใหม่
A: การแตกของถุงยางอนามัย มีได้หลายสาเหตุ แม้คู่รักบางคู่จะทราบว่าถุงยางแตก บางครั้งก็ยังมีเพศสัมพันธ์กันต่อ (อารมณ์ค้าง) แต่บางครั้งเราก็ไม่อาจทราบได้ อาจด้วยอารมณ์ขณะนั้นที่ไม่ได้ใส่ใจ หรือมีอาการมึนเมาจากแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
สาเหตุการแตกของถุงยางพบได้หลายแบบดังนี้
- ในกลุ่มชายรักชาย ที่ใช้ถุงยางชนิดบางมาก (น้อยกว่า 0.03 มิลลิเมตร) มีโอกาสถุงยางฉีกหรือแตกได้ หากร่วมเพศทางทวารหนักที่รุนแรง
- ขณะใส่ถุงยาง เล็บอาจเผลอไปเกี่ยวจนรั่ว หรือ บางคู่ใช้ปากใส่ถุงยางให้คู่รัก อาจโดนฟันของอีกฝ่าย หรือเหล็กดัดฟันของผู้ที่ใช้ปากใส่ เกี่ยวโดนถุงยางขณะใส่ให้อีกฝ่ายได้
- ตัดซองถุงยางด้วยกรรไกร ทำให้พลาดไปโดนถุงยางโดยไม่รู้ตัว
- ใช้สารหล่อลื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น ถุงยางที่ทำจากยางพารา หากใช้สารหล่อลื่นจำพวกปิโตรเลียม หรือน้ำมันจากพืช จะทำให้ความยืดหยุ่นและโครงสร้างของถุงยางเสื่อมลง 90% ดังนั้นหากใช้ถุงยางที่ทำจากยางพารา ควรใช้สารหล่อลื่นพวกมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก หรือสารหล่อลื่นสูตรซิลิโคนแทน หากรู้สึกว่ามีน้ำหล่อลื่นไม่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจสังเกตที่บรรจุภัณฑ์ของสารหล่อลื่น เลือกที่เขียนบอกไว้ว่า “สามารถใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย”
- ลืมบีบกระเปาะของถุงยางก่อนใส่ ทำให้มีอากาศค้างที่กระเปาะ เมื่อมีการร่วมเพศจึงอาจเกิดการแตกได้
- ถุงยางแน่นหรือฟิตไป ไม่พอดีกับขนาดองคชาต
- เก็บถุงยางไว้ในกระเป๋าเงิน หรือกระเป๋ากางเกง แล้วเกิดการนั่ง กดเบียดทับ ถุงยางหมดอายุ หรือถูกเก็บไว้ในที่ร้อน โดนแสงแดดเป็นเวลานาน ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่เย็นและแห้ง
HPV กับโรคที่ไม่ควรมองข้ามในผู้ชาย