แพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา ดูแลให้ดีก่อนสูญเสียการมองเห็น

โรคเบาหวาน
เบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ซึ่งสาเหตุมาจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองอย่างเหมาะสมต่ออินซูลินที่ร่างกายผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายรวมถึง “ดวงตา”

รู้จักเบาหวานขึ้นตา
เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่อาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด โดยเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอตา (Retina) ได้รับความเสียหาย

ระยะของเบาหวานขึ้นตา
เบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรค ได้แก่

เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา ทำให้เกิดจอตาบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หากเกิดหลอดเลือดรั่วบริเวณจุดภาพชัด (Macula) จะทำให้เกิดจุดภาพชัดบวม (Macular Edema) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการมองเห็น หากมีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เกิดจอตาหรือจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular Ischemia) ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ มีการขาดเลือดที่จอตามากจนเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอก (Retinal Detachment) ตามมาได้ หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปรบกวนการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตาและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหิน (Neovascular Glaucoma) ได้

อาการเบาหวานขึ้นตา
ในระยะแรกของเบาหวานขึ้นตาอาจจะไม่มีอาการหรือความผิดปกติในการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและละเลยการตรวจตา แต่มารู้ตัวอีกทีเมื่อเบาหวานเริ่มขึ้นตาแล้ว ซึ่งอาจพบอาการต่าง ๆ เช่น

  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น
  • เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  • สูญเสียการมองเห็น
    ***แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติเลยแม้อยู่ในระยะรุนแรงแล้วก็ตาม
  • ตรวจวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาและขยายม่านตาตรวจจอตาแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นเพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังการขยายม่านตาตรวจจอตาผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว ควรมีญาติไปด้วย หากไม่พบความผิดปกติควรตรวจตาและขยายม่านตาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง กรณีที่พบเบาหวานขึ้นตาอาจได้รับการรักษาหรือได้รับการตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค

เงื่อนไขการใช้บริการ

  1. ราคานี้เริ่มตั้งแต่ วันนี้- 31 ธันวาคม 2567
  2. รับบริการได้ที่แผนกหู คอ จมูก ชั้น 4
  3. ราคาดังกล่าวรวมค่าแพทย์และค่าบริการแล้ว
  4. ไม่สามารถใช้ร่วมกับส่วนลดการตลาดอื่นๆ ได้
  5. โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงราคาโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนกหู คอ จมูก ชั้น 4 โทร. 0-5505-1724 ต่อ 4103

แหล่งที่มา :

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ