เตรียมตัวคุณแม่มือใหม่

ในช่วง  3-4  เดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นระยะที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย  จำเป็นต้องใช้สารอาหารที่ครบถ้วน  คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในแต่ละวัน  ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต  โปรตีน  ไขมัน  เกลือแร่  และวิตามิน  ในช่วงต่อมา  5  เดือนก่อนคลอด  อาหารที่ทารกได้รับจะไปใช้ในการเพิ่มขนาดของอวัยวะที่สร้างขึ้นมา  อาหารที่คุณแม่ควรรับประทานในช่วงหลังนี้จึงควรเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น  และมีคุณค่าของอาหารให้ครบถ้วน

ดังนั้น น้ำหนักตัวของคุณแม่จึงควรเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ประมาณ 10-14 กิโลกรัม โดยใน  3  เดือนแรกของการตั้งครรภ์ควรเพิ่ม 1-2  กิโลกรัม จากเดือนที่สี่ไปควรเพิ่มเดือนละประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัม ในกรณีที่น้ำหนักตัวแม่เพิ่มเร็วหรือมากเกินไป  ควรลดปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันลง  เช่น  ข้าว  เส้นก๋วยเตี๋ยว  ขนมปัง  หมูสามชั้น  ขนมหวาน  ไอศกรีม  เป็นต้น  แต่รับประทานผักผลไม้แทนซึ่งทำให้อิ่มได้เหมือนกัน

ความต้องการโปรตีน

ได้แก่  เนื้อสัตว์ทุกชนิด  ไข่  เต้าหู้  อาหารทะเล  และถั่วชนิดต่างๆ  เพื่อนำไปใช้ในการสร้างอวัยวะและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย  คุณแม่อาจเพิ่มโปรตีนจากอาหารปกติที่เคยรับประทานก่อนตั้งครรภ์โดยการดื่มนมสดเพิ่มขึ้นวันละ  2  แก้ว  หรือนมสด 1 แก้วกับไข่อีก 1 ฟอง  หรือเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอีก 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน  เป็นต้น

ความต้องการแคลเซียม

แคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการสร้างกระดูก  ฟัน  และการทำงานของกล้ามเนื้อระหว่างตั้งครรภ์  คุณแม่ต้องการแคลเซียมเพิ่มขึ้น  50%หรือวันละ 1,200  มิลลิกรรม จากก่อนตั้งครรภ์  800  มิลลิกรัมต่อวัน  ถ้ารับประทานอาหารไม่เพียงพอทารกจะดึกแคลเซียมจากกระดูกและฟันของคุณแม่มาแทนซึ่งอาจทำให้คุณแม่ฟันผุและกระดูกพรุนได้  ดังนั้นการดื่มนมวันละ 3-4 แก้ว  (แก้วละ 250 ซี.ซี มีแคลเซียมประมาณ 290  มิลลิกรัม) ร่วมกับอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจะเพียงพอสำหรับทารกในครรภ์ รวมถึงช่วงหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

อาหารที่อาจทดแทนได้ในกรณีที่แพ้นมวัว  เช่น  กุ้งแห้ง  ปลาเล็ก  ปลาน้อย  ปลากระป๋อง  เต้าหู้  น้ำเต้าหู้  ผักใบเขียวจัด  ถั่วแดง  งาดำ  เป็นต้น

ความต้องการธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กในอาหารหรือยาบำรุงเลือดจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทั้งในตัวคุณแม่และทารกในครรภ์  ซึ่งถ้าได้รับไม่เพียงพออาจทำให้ร่างกายซีด  อ่อนเพลีย  หรือเป็นโรคโลหิตจางได้  อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง  เช่น  เนื้อสัตว์  ตับ  ผักใบเขียวจัด  ถั่วต่างๆและลูกพรุน  เป็นต้น

ความต้องการวิตามินและเกลือแร่

วิตามินเป็นส่วนจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย  ซึ่งร่างกายต้องการมากขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์  ดังนั้นคุณแม่จึงควรรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น  เช่น  ผักที่มีสารสีเหลือง  แคโรทีนจะมีวิตามินเอ ซี  แคลเซียม และโฟเลตมาก  ตัวอย่าง  เช่น แครอท ฟักทอง ผักบล็อกโคลี่  ผักบุ้ง  มะเขือเทศ เป็นต้น นอกจากนั้นผักผลไม้ยังมีกากใยอาหาร  ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระอีกด้วย

ในวันหนึ่งๆ คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว เพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก และเป็นส่วนสร้างน้ำคร่ำระหว่างตั้งครรภ์ วิตามินซีในน้ำผลไม้จะช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็กให้ดีขึ้น และยังป้องกันภาวะเลือดออกตามไรฟันด้วย

คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ นิโคตินในบุหรี่ และคาเฟอีนใน ชา กาแฟ ซึ่งสารต่างๆ  ในกลุ่มนี้อาจทำให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า ระบบหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ  เช่น ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทหรือรุนแรงอาจทำให้การพัฒนาการของสมองทารกผิดปกติได้

การเตรียมเต้านม

ในช่วง 3-4 เดือนก่อนคลอด  คุณแม่ที่มีหัวนมสั้นหรือหัวนมบอด  ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์  เพื่อแก้ไขให้หัวนมยาวพอที่ลูกจะใช้ดูดนมได้  ไม่เช่นนั้นอาจคัดเต้านมจนน้ำนมไหลไม่สะดวก  ทำให้มีไข้และปวดหน้าอกได้  นอกจากนี้คุณแม่ควรเลือกเสื้อชั้นในที่มีขนาดพอเหมาะกับเต้านมที่จะขยายใหญ่ขึ้น เพื่อรักษาทรวดทรงให้ดูดีเสมอ

การทำงาน พักผ่อนนอนหลับ

การตั้งครรภ์ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานประจำวัน  เพียงแต่ร่างกายจะอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยเร็ว ทำงานติดต่อกันไม่ได้นาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพงานของแต่ละคน วันหนึ่งๆ คุณแม่ควรได้พักผ่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมง  คือ  กลางคืน 8 ชั่วโมง  กลางวัน 2 ชั่วโมง  สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านอาจนั่งพักหลับสายตาวางขาพาดบนเก้าอี้และทำจิตใจให้สบาย

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์

ขณะตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์จนถึงใกล้คลอด  ควรระวังการใช้ท่าที่จะเป็นอันตรายต่อฝ่ายหญิง  และควรงดร่วมเพศในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์  หรือช่วง  3  เดือน  ก่อนคลอด  ที่มีการเกร็งตัวของมดลูกบ่อยผิดปกติ  รวมทั้งคุณแม่ที่มีประวัติการแท้งในครรภ์ก่อนๆหรือการคลอดก่อนกำหนด

ปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
Facebook : https://www.facebook.com/
Line : https://lin.ee/h3jcNOO

แหล่งที่มา :

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ผ่าตัดหัวเข่า

ผ่าตัดเข่าเทียม พิษณุโลก แผลเล็ก เจ็บน้อย

การอักเสบของข้อเข่าหรือจากอุบัติเหตุผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้ามีความเสียหายรุนแรงขึ้นจะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน

อ่านต่อ »