โรคเบาหวาน (Diabetes)
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายระบบ ทั้ง ฟันและเหงือก ตา ไต หัวใจ สมอง และหลอดเลือดแดง รวมทั้งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต,เศรษฐสังคม (socioeconomic effect) โดยมีการคาดการจาก International diabetes Federationว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 366 ล้านคน ในปีค.ศ.2011 เป็น 552 ล้านคน ในปีค.ศ. 2030 สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยเบาหวาน 3.5 ล้านคนและมีมูลค่าการรักษา 47,596 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้นทุกคนควรดูแลและป้องกันโรคเบาหวานด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกาย
ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน การให้ความร่วมมือในการรักษาและติดตามการรักษากับแพทย์เป็นสิ่งสำคัญในการดูแล รักษาโรคเบาหวาน เพื่อที่จะได้ลดภาวะแทรกซ้อนและอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข
โรคเบาหวาน คืออะไร |
เป็นกลุ่มโรคเกี่ยวกับการเผาผลาญอาหารซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย
ฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร |
อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย เพราะร่างกายคนเรานั้นรับประมานอาหารเข้าไปทุกวัน มีการเปลี่ยนแป้ง , โปรตีนให้เป็นน้ำตาล หากไม่มีอินซูลิน ก็จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ และยังทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ อินซูลินสร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท |
- เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน มักพบในเด็กและวัยรุ่น
- เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย และส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประเภทนี้มักไม่อาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้
- เบาหวานประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (เบาหวานวินิจฉัยระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยที่ไม่ได้เป็นเบาหวานก่อนหน้า)
- เบาหวานประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม monogenic diabetes syndromeหรือ Maturity onset diabetes of the young [MODY], จากยา , โรคของทางตับอ่อน เช่น cystic fibrosis
สาเหตุของการเกิด โรคเบาหวาน |
สาเหตุของโรคเบาหวานมีหลายปัจจัยร่วมกันทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม (genetic factor) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม (environmental factor)
- กรรมพันธุ์
- น้ำหนักเกิน ความอ้วน ขาดการเคลื่อนไหว ขาดการออกกำลังกาย
- อายุที่มากขึ้น มีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากขึ้น
- โรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อตับอ่อน
- ความเครียดเรื้อรัง
- การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
- การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น โรคเบาหวาน |
- อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย(Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ ตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในคนเอเชีย
- ความดันโลหิตสูง (ความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
- สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
- ไม่ออกกำลังกาย (physical inactivity)
- ดื่มสุรา
- สูบบุหรี่
- สตรีที่มีโรคถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovary syndrome)
- เคยตรวจพบ ระดับน้ำตาลสะสม Hemoglobin A1C (Hb A1C) มากกว่าหรือเท่ากับ 5.7 % , ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Impaired fasting glucose) คือมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือด 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ไขมันชนิดชนิดเอชดีแอล (HDL) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ ไตรกลีเซอไรด์(TG) มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้ป่วยที่มีประวัติประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ, หลอดเลือดสมอง
คุณเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ |
ตรวจว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และ ได้ผลดีโดยอาศัยเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร (fasting plasma glucose)ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เริ่มผิดปกติ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเบาหวานเต็มขั้น ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อไม่ให้เป็นเบาหวาน
วินิจฉัยเบาหวาน
- มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร (fasting plasma glucose) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- มีอาการของโรคเบาหวาน ร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ตาม (Random plasma glucose) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ณ 2 ชั่วโมงภายหลังทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่รับประทานเข้าไป
- มีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5 % ขึ้นไป
อาการของ โรคเบาหวาน |
- ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
- กระหายน้ำ
- อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด
- หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น
- คันตามตัว ติดเชื้อได้ง่าย เป็นเชื้อรา ตกขาวบ่อย
- ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
- ปลายมือ ปลายเท้าชาอันเนื่องมาจากปลายประสาทเสื่อม
โรคแทรกซ้อนจาก โรคเบาหวาน |
- ตา อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัย จอตาเสื่อม ทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ และอาจทำให้ตาบอดในที่สุด
- เท้า ทำให้มีอาการชาปลายมือปลายเท้า เกิดแผลได้ง่ายและ อาจก่อให้เกิดความพิการ
- ไต มักจะเสื่อม จนเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง, โปรตีน (ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ)
- เป็นการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ
- ภาวะคีโตซีส(ketosis)ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก หายใจหอบลึก มีไข้ กระวนกระวาย
- ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง อัมพาต หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การรักษา โรคเบาหวาน |
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งยังไม่มีทางรักษาให้ขายขาด การรักษาจึงเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด รวมถึงความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในการรักษาผู้ป่วยจึงต้องพบแพทย์ตามกำหนด ติดตามอาการเป็นระยะๆ
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา (non pharmacologic treatment)
- การรักษาแบบใช้ยา (pharmacologic treatment)
สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ |
- เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ
- พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม (โซเดียมน้อยกว่า 1,500-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน)
- รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
- ควบคุมน้ำหนัก
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
- ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิค (moderate intensity) วันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์ กรณีไม่มีข้อห้าม
- ระวังอย่ารับประทานยาใด ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
- ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย
- ดูแลและตรวจเท้าทุกวัน เพื่อสำรวจแผลที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า
- ดูแลสุขภาพฟัน
- ติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ป่วยและผู้ดูแลสังเกตอาการผิดปกติเนื่องจากภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไป เช่น หน้ามืด ใจสั่น หมดสติ
ภาวะน้ำตาลต่ำ คืออะไร |
ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือด น้อยกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร กรณีใช้ยา โดยเฉพาะกลุ่มอินซูลิน, ยารับประทานบางกลุ่ม
อาการ: หน้ามืด ใจสั่น หมดสติ แต่ในบางรายอาจจะไม่แสดงอาการได้
วิธีแก้ไขที่บ้าน
- รับประทานน้ำตาล (15-20 กรัม) ใช้ในผู้ป่วยที่รู้สึกตัว หลังจากนั้น15 นาทีให้ตรวจเลือดซ้ำ ถ้าระดับน้ำตาลยังต่ำให้รับประทานน้ำตาลซ้ำและเจาะเลือดอีกครั้ง ถ้าระดับน้ำตาลปกติให้ทานอาหารต่อ
- กรณีไม่รู้สึกตัว ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที
- การฉีดกลูคากอน (Glucagon) ใช้ในผู้ที่มีระดับน้ำตาลต่ำแบบรุนแรง (severe hypoglycemia)
การป้องกัน - มีเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้าน (self- monitoring blood glucose; SMBG)
สถานการณ์เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำ - การเตรียมตัว งดน้ำ งดอาหารมาก่อนเจาะเลือด (fasting for tests)
- ระหว่างหรือหลังออกกำลังกายอย่างหนัก
- ระหว่างนอนหลับ
วัคซีนสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน |
- ไข้หวัดใหญ่ ฉีดทุกปี (แนะนำช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนเข้าหน้าฝน 1 เดือน)
- แบคทีเรียนิวโมคอคคัส (invasive pneumonia) ฉีด 1-2 ครั้ง (pneumococcal 13 valent conjugate (pcv13) และ/หรือ Pneumococcal polysaccharide vaccine (PPSV23))
*** อายุมากกว่า65 ปี แนะนำฉีด pcv13 และ PPSV23*** - ไวรัสตับอักเสบบี กรณียังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- วัคซีนอื่นๆ เช่น บาดทะยัก, คอตีบ (dT) ทุก 10 ปี, งูสวัด (Zoster) 1 ครั้ง
ปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
Facebook : https://www.facebook.com/
Line : https://lin.ee/h3jcNOOอ่านบทความที่น่าสนใจ