ผ่าตัดเข่าเทียม พิษณุโลก แผลเล็ก เจ็บน้อย

ก่อนจะ “ผ่าตัดเข่า” เหตุเกิดจาก ผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรือจากอุบัติเหตุผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้ามีความเสียหายรุนแรงขึ้นจะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน การรักษาอาจเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งานของเข่า ยาลดการอักเสบ หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดข้อเข่า เป็นการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ซึ่งเป็นการผ่าตัดตัดผิวที่เสียหายออกใส่ผิวใหม่ที่เรียบมันซึ่งทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน เพื่อให้เข่ากลับไปใช้งานได้ตามเดิมอีกครั้งการผ่าตัดหัวเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเริ่มมีการผ่าตัดครั้งแรกในปี 1968 หลังจากนั้นการผ่าตัดนี้ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านวัสดุที่ใช้และวิธีการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดให้ผลดีขึ้น

กายวิภาคของข้อเข่า

เข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ประกอบด้วยส่วนกระดูก 3 ชิ้น คือ

  1. ส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur)
  2. ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia)
  3. กระดูกสะบ้าหัวเข่า (Patella)

โดยมีเอ็นยึดกระดูกทั้ง 3 ไว้ให้มั่นคง และมีกล้ามเนื้อเกาะตามกระดูกเพื่อความเคลื่อนไหว บริเวณผิวของกระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะคลุมด้วยกระดูกอ่อน (Articular Cartilage) ซึ่งมีลักษณะสีขาวมันเรียบ กระดูกอ่อนจะทำหน้าที่เป็นเบาะกันการกระแทกกันของกระดูก และผิวที่เรียบทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ส่วนที่เหลือของข้อเข่าที่ไม่ได้คลุมด้วยกระดูกอ่อน จะถูกคลุมด้วยเยื่อหุ้มข้อ (Synovial Membrane) ซึ่งมีลักษณะบางและเรียบทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยงข้อจะช่วยหล่อลื่นบริเวณผิว

ทำไมจึงปวดเข่าและหัวเข่าสูญเสียการทำงาน

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะข้อเข่าอักเสบ (Arthritis) ที่อาจเกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ (Rheumatoid) และการอักเสบจากอุบัติเหตุ

  • ข้อหัวเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
    มักเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี เกิดจากการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกที่แข็งและไม่เรียบถูเสียดสีกัน ทำให้เกิดเสียงเวลาขยับเข่า มีอาการปวด และติดขัดเวลางอเข่า
  • ข้ออักเสบเรื้อรัง
    ที่พบบ่อย คือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยข้ออักเสบเรื้อรังจะทำให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบหนาตัวขึ้น มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อมากขึ้นทำให้เข่าบวมแดง เมื่อมีการอักเสบนานจะทำให้ส่วนกระดูกถูกทำลายไป
  • ข้อหัวเข่าอักเสบจากอุบัติเหตุ
    กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากอุบัติเหตุ จากแรงกระแทกที่รุนแรง หรือจากการแตกร้าวของกระดูกและกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นผลทำให้ผิวข้อเสียไม่เรียบ

ผ่าตัดเข่า พิษณุโลก เปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การรักษาข้อเข่าอักเสบเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งาน ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดและกระแทกที่เข่า เช่น การนั่งยองๆ, คุกเข่า, ขึ้นลงบันได, วิ่ง หรือการยกของหนัก ทานยาเพื่อลดการอักเสบในเข่า การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้เข่ามีการเคลื่อนไหวที่มั่นคง ถ้าการรักษาเหล่านี้ไม่ได้ผล อาจพิจารณาฉีดยาเข่าในข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบและเพื่อเพิ่มการหล่อลื่นในเข่า เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ (Steroid) หรือน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมสังเคราะห์ หากยังไม่ได้ผลอาจใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจทำให้ผู้ป่วยลดการเจ็บปวดและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ตรวจรักษาเข่า

สิ่งที่ควรตรวจก่อนเข้ารับการรักษาเข่า ได้แก่

  • ประวัติสุขภาพทั้งหมด อาการ ลักษณะการปวดเข่า และความสามารถในการใช้งานของเข่า
  • ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเข่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าและความแข็งแรงของเอ็นรอบ ๆ  เข่า
  • X-Ray เพื่อดูพยาธิสภาพ ความเสียหายของเข่า
  • บางครั้งอาจต้องมีการตรวจเลือด X-Ray พิเศษ หรือตรวจ MRI เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ  รอบกระดูก

ผลการรักษาโดยการผ่าตัดเข่าเทียมมากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ กิจกรรมควรเลี่ยงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ได้แก่ กีฬาที่มีแรงกระแทกรุนแรงที่ข้อเข่า เช่น การวิ่งหรือกระโดด ซึ่งแรงกระแทกจะทำให้ส่วนที่เป็นพลาสติกเสื่อมสภาพเร็วขึ้น การนั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งส้วมแบบนั่งยองๆ ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดเข่า

  • ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจโดยแพทย์อายุรกรรมเพื่อดูความพร้อมก่อนการผ่าตัด และอาจต้องตรวจซ้ำโดยแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์อายุรกรรมหัวใจอีกครั้ง
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และ X-Ray
  • เตรียมบริเวณที่ผ่าตัด ตรวจดูผิวหนังบริเวณเข่าและขา ถ้ามีลักษณะของผิวหนังอักเสบ บวมแดงผิดปกติ ต้องรายงานต่อแพทย์ก่อนการผ่าตัด
  • เตรียมเลือด เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดใหญ่ มีการเสียเลือดมาก อาจต้องมีการให้เลือดในระหว่างการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมเลือดจากธนาคารเลือด แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดแนะนำให้บริจาคเลือดของตัวผู้ป่วยเองไว้ใช้ในการผ่าตัด โดยบริจาค 3 – 4 อาทิตย์ก่อนการผ่าตัด และบริจาคครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่า 2 อาทิตย์ก่อนการผ่าตัด
  • เตรียมเรื่องยาประจำที่ผู้ป่วยใช้ ผู้ป่วยต้องบอกแพทย์เรื่องยาทุกชนิดที่ทาน โดยยาบางตัวจำเป็นต้องหยุดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด พวกยาแอสไพริน (Aspirin) ยาลดการอักเสบบางตัว
  • ตรวจฟัน การทำฟันใหญ่ ๆ เช่น การรักษารากฟัน การติดเชื้อของฟันหรือเหงือก เชื้ออาจไปตามกระแสเลือดทำให้เกิดการติดเชื้อของข้อเทียมได้ เพราะฉะนั้นควรรักษาให้หายก่อนการผ่าตัด
  • เตรียมเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ ควรแก้ปัญหาเรื่องการติดเชื้อเรื้อรังในระบบปัสสาวะ เช่น จากต่อมลูกหมากโต เพราะการติดเชื้อในระบบปัสสาวะอาจทำให้ติดเชื้อที่ข้อเทียมได้
  • การเตรียมสิ่งแวดล้อมในบ้านและคนช่วยเหลือในช่วงหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถช่วยตัวเองและเคลื่อนไหวโดยเครื่องพยุง แต่ในช่วงแรก ๆ หลังการผ่าตัดจำเป็นต้องมีคนช่วยในการประกอบกิจกรรมบางอย่าง เช่น อาบน้ำ ทำอาหาร ซื้อของ หรือซักผ้า ควรมีการติดตั้งและปรับปรุงสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมในบ้านเพื่อให้เหมาะสมหลังผ่าตัด ดังนี้
    • การติดตั้งราว (Bar) ตามขอบในห้องน้ำ เพื่อช่วยในการเดิน
    • ตรวจดูราวบันไดให้แข็งแรงและมั่นคง
    • ควรมีราวจับบริเวณส้วมชักโครก เพื่อช่วยในการลุก
    • ควรใช้เก้าอี้พลาสติกไว้ใช้เวลาอาบน้ำฝักบัว
    • ควรมีห้องต่าง ๆ อยู่ในชั้นเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้น – ลงบันได

 

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ปกติผู้ป่วยจะนอนโรงพยาบาลตอนเช้าของวันผ่าตัด หลังจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะมาเยี่ยมผู้ป่วยและแนะนำวิธีการระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด ซึ่งมี 2 วิธี คือ การดมยาสลบ และการฉีดยาเข้าไขสันหลัง ซึ่งวิธีที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิสัญญีแพทย์

การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยการผ่าตัดจะตัดเอาผิวข้อที่เสียออกและใช้ผิวข้อเทียมที่ทำด้วยโลหะและมีส่วนพลาสติกกันระหว่างผิวโลหะ เพื่อกันการกระแทกและลดแรงเสียดสีระหว่างผิวข้อ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะอยู่ในห้องพักฟื้นเป็นเวลา 1 – 2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวจากยาสลบแล้วจะย้ายกลับไปห้องพักผู้ป่วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาล 5 – 7 วันหลังผ่าตัด โดยในช่วงแรกหลังผ่าตัด

  • อาจมีสายสวนปัสสาวะ เพื่อให้แพทย์สามารถคุมปริมาณของเลือด และน้ำในร่างกายผู้ป่วยได้ถูกต้อง
  • เข็มแทงที่เส้นเลือดดำ เพื่อเป็นการให้เลือด น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะหลังผ่าตัดใหม่ๆ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการคลื่นไส้และความรู้สึกตัวยังไม่ดี เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้น้ำเกลือจนสามารถทานอาหารได้เองเพียงพอ
  • ยาปฏิชีวนะ ปกติให้ยาปฏิชีวนะ1/2 – 1 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด และให้ต่อ 1 – 2 วันหลังผ่าตัด
  • เนื่องจากการผ่าตัดต้องตัดกระดูกและกล้ามเนื้อ จึงมีการเสียเลือดค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นอาจจำเป็นต้องให้เลือดทดแทน
  • ท่อดูดเลือดที่ออกจากบริเวณผ่าตัดจะใส่ท่อไว้จนเลือดบริเวณผ่าตัดหยุด ปกติประมาณ 2 – 3 วัน
  • หลังผ่าตัดผู้ป่วยหายใจแรง ไอบ่อยๆ เพื่อให้ปอดขยายตัวได้ดีขึ้น เป็นการป้องกันภาวะปอดบวม และอาจมีการใส่เครื่องช่วยขยับเข่า (Continuous Passive Motion – CCPM) เพื่อช่วยในการขยับเข่า วันที่ 2 – 3 หลังผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยเริ่มบริหารเข่าและเริ่มลุกนั่ง-ลุกยืน และหัดเดินโดยมีนักกายภาพบำบัดช่วย เมื่อผู้ป่วยสามารถช่วยตัวเองได้ แผลผ่าตัดไม่มีอาการของการติดเชื้อ ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนใหญ่อยู่โรงพยาบาล 5 – 7 วัน

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  • ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุด คือ การติดเชื้อ ซึ่งปกติจะค่อนข้างต่ำมาก คือ ประมาณไม่ถึง 2%
  • ภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ เนื่องจากมีการเสียเลือดและให้เลือดจำนวนมาก ดังนั้นหัวใจจึงมีการทำงานหนักอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้
  • ภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน ซึ่งอาจจะมีลิ่มเลือดหลุดไปติดที่กล้ามเนื้อหัวใจและปอด ทำให้เกิดภาวะหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ ภาวะเส้นเลือดดำอุดตันพบมากในคนผิวขาว แต่ก็พบในคนผิวเหลืองและคนไทยได้ การป้องกันสามารถทำได้โดยการขยับขาทั้ง 2 ข้าง พยายามเริ่มขยับให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ การเคลื่อนไหวนี้จะทำให้การไหลของเลือดดีขึ้นจะลดการอุดตันได้ นอกจากนี้ยังมีการให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดอุดตันโดยส่วนใหญ่จะเริ่มให้วันที่ 1 – 2 หลังผ่าตัดและให้ประมาณ 10 – 14 วันหลังผ่าตัด

สังเกตอาการอุดตันของเส้นเลือดดำ

  • ปวดบริเวณน่อง
  • ปวด บวมแดงบริเวณเหนือ หรือใต้ข้อเข่า
  • บวมเพิ่มขึ้นบริเวณน่อง ข้อเท้า และเท้า

ผู้ป่วยที่เหมาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  1. ปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง
  2. ปวดเข่าเวลาพัก เช่น ปวดเวลานอน
  3. มีการอักเสบบวมแดงของเข่า โดยมีอาการบ่อยและเรื้อรัง
  4. มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน ฯลฯ
  5. ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก
  6. ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการใช้งาน ยาทาน หรือการฉีดยาเข้าในเข่าไม่ได้ผล ฯลฯ


    ปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
    Facebook : https://www.facebook.com/
    Line : 
    https://lin.ee/h3jcNOO

แหล่งที่มา :

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ จ.กรุงเทพมหานครฯ
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/total-knee-replacement

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ