อายุครรภ์เท่าไหร่ควรฝากท้อง มีความสำคัญอย่างไร

การฝากครรภ์ สำคัญอย่างไร?

  • การฝากครรภ์ เป็นการดูแลคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์โดยสูติแพทย์ เพื่อให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกมีสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอดบุตร และหลังการคลอดบุตร

ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?

  • คุณแม่ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มทราบว่าตั้งครรภ์ หรือไม่ควรเกินอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (อายุครรภ์ เริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย)
  • แต่จะดีที่สุด ถ้าทั้งคุณแม่และคุณพ่อมาพบสูติแพทย์ก่อนวางแผนการมีบุตร เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ หากพบปัญหาสุขภาพจะได้รีบรักษา หรือวางแนวทางป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์

การฝากครรภ์ มีขั้นตอนอย่างไร?

  • แพทย์จะซักประวัติของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ตั้งครรภ์
  • ตรวจสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์
  • ซักถามอาการของคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ ทั้งอาการทั่วไป และอาการผิดปกติต่างๆ
  • ให้คำแนะนำถึงวิธีการดูแลตนเองและลูกน้อยในตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน
  • ตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพของคุณแม่และคุณพ่อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะตรวจตั้งแต่มีการฝากครรภ์ครั้งแรก
  • ตรวจคัดกรองภาวะเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์ทั้งในคุณแม่และลูกในครรภ์ เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรมในทารก ภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ในคุณแม่ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ตรวจอัลตราซาวด์ลูกในครรภ์
  • ให้วิตามินบำรุงครรภ์
  • ให้วัคซีนที่จำเป็นระหว่างการตั้งครรภ์
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการคลอดบุตร
  • ให้คำแนะนำ รับฟัง ให้คำปรึกษาในทุกคำถามที่คุณแม่และคุณพ่อต้องการทราบ
  • ให้ความรู้ถึงอาการต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นได้ทั้งอาการที่ปกติและผิดปกติ
  • นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลที่ดูแลคุณแม่ ยังมีการให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น
    • การตรวจสุขภาพฟัน
    • การตรวจเต้านมและหัวนม เพื่อเตรียมหัวนมสำหรับการให้นมบุตร
    • ห้องเรียนการสอนสำหรับคุณแม่ เช่น การอุ้มลูก การฝึกให้นมลูก การอาบน้ำลูก

เมื่อฝากครรภ์แล้ว ต้องมาพบแพทย์อีกกี่ครั้ง และบ่อยแค่ไหน?

  • ส่วนใหญ่คุณแม่จะต้องมาตรวจครรภ์เฉลี่ย 10-12 ครั้งตลอดการตั้งครรภ์ และคุณแม่อาจต้องพบสูติแพทย์ที่ดูแลมากกว่านั้นหากมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ โดยสูติแพทย์จะกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมตามความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
  • โดยปกติคุณแม่จะมาพบสูติแพทย์ ตามช่วงอายุครรภ์ของคุณแม่ ดังนี้
    • อายุครรภ์ น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ตรวจครรภ์ทุก 4 สัปดาห์
    • อายุครรภ์ ระหว่าง 28-36 สัปดาห์ ตรวจครรภ์ทุก 2 สัปดาห์
    • อายุครรภ์ มากกว่า 36 สัปดาห์ ตรวจครรภ์ทุก 1 สัปดาห์ จนคลอดบุตร

ควรตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์ครั้งแรกเมื่อไหร่?

  • โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้คุณแม่เริ่มทำอัลตราซาวด์เพื่อประเมินการตั้งครรภ์ ในช่วง 6-8 สัปดาห์ หลังวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย เพื่อการประเมินดังนี้
    • ตำแหน่งของการตั้งครรภ์ว่าอยู่ในมดลูก
    • จำนวนทารกในครรภ์ ครรภ์เดี่ยวหรือครรภ์แฝด
    • การเต้นของหัวใจในทารก
    • ขนาดตัวของทารก
    • อายุครรภ์ที่ถูกต้อง และวันกำหนดคลอด
    • มดลูก รังไข่ และปีกมดลูก เพื่อดูเนื้องอกหรือถุงน้ำ
    • ในบางกรณี สูติแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์เร็วกว่าช่วงเวลามาตรฐาน ถ้าคุณแม่มีอาการผิดปกติ
    • เช่น ปวดท้องมาก เลือดออกทางช่องคลอด หรือเคยมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน

ปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
Facebook : https://www.facebook.com/
Line : https://lin.ee/h3jcNOO

แหล่งที่มา :

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ