เมื่อลูกน้อยเจ็บป่วยคราใด ใจพ่อแม่ก็เจียนขาด ภาวนาให้ตัวเองเจ็บแทนเสียยังจะดีกว่าไหม ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันและดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคร้ายได้ก็คงจะดี…โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมยิ่งรู้เร็วก็สามารถรักษาได้เร็ว
“ปอดอักเสบ” หรืออีกคำที่รู้จักกันดีคือ “ปอดบวม” เป็นการอักเสบของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมและถุงลม ทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจลดลง เกิดความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลม ในเด็กบางคนอาการอาจรุนแรงจนพิการและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
ที่มาของปอดอักเสบ
โดยปกติแล้วโรคปอดอักเสบนั้นพบได้กับคนทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุ แต่สำหรับในเด็กนั้นนับได้ว่าเป็นโรคร้ายลำดับต้นๆ ตามสถิติแล้วปอดอักเสบจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นั่นเป็นเพราะเมื่อเด็กมีไข้หวัดจะเกิดอาการแทรกซ้อนลามไปถึงปอด จนถึงขั้นปอดอักเสบได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากทางเดินหายใจที่เล็กและแคบ ทำให้กำจัดเสมหะได้ไม่ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของเชื้อที่ได้รับ ภูมิต้านทาน รวมทั้งการดูแลเบื้องต้น ล้วนมีผลต่อการเกิดโรคปอดอักเสบทั้งสิ้น
สาเหตุเกิดจากอะไร?
โรคปอดอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก คือปอดอักเสบจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การแพ้หรือการระคายเคืองจากสารที่สูดดมเข้าไป การสำลักอาหาร เป็นต้น
ในส่วนของปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นเป็นสาเหตุหลักของปอดอักเสบในเด็ก โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ส่วนเชื้อราและพยาธิพบได้น้อย เชื้อไวรัสที่พบบ่อย เช่น เชื้อ respiratory syncytial virus (RSV), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), Human metapneumovirus, Parainfluenza ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ เช่น Streptococcus Pneumoniae มากที่สุด เชื้อแบคทีเรียทีอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อ Haemophilus Influenza Type B (HIB), เชื้อ Staphylococcus aureus หรือ Mycoplasma Pneumonia, Chlamydia Pneumonia
อาการเป็นอย่างไร?
อาการที่พบคือจะมีไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจเร็ว หรือหอบ กรณีมีอาการมากจะหายใจลำบาก หรือมีภาวะระบบการหายใจล้มเหลวร่วมด้วย ซึ่งการแสดงอาการแต่ละแบบนั้นขึ้นอยู่กับอายุและเชื้อที่ได้รับเป็นสำคัญ นอกจากนี้อาจมีอาการ ท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนม ร้องกวนกว่าปกติร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้พบบ่อยในเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตนั้นอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพิ่มขึ้นมา
เด็กกลุ่มใดเสี่ยงภัยปอดอักเสบ
เด็กที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เด็กที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรืออยู่ในสถานรับเลื้ยงเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลรอบข้าง
การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ
เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การเอ็กซเรย์ปอด รวมทั้งอาจจะใช้วิธีการการตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเชื้อจากเสมหะ การตรวจแอนติเจนเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อในเสมหะหรือโพรงจมูก ตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีของร่างกายต่อเชื้อ
แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยแบ่งการรักษาเป็น 2 ส่วนคือ
การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง
ให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาจำเพาะ ยกเว้น ไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านเชื้อไวรัส ส่วนไวรัสชนิดอื่นๆ จะให้การรักษาตามอาการ
การรักษาแบบประคับประคอง
- แนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ แพทย์พิจารณาให้สารน้ำทางเส้นเลือด
- ให้ออกซิเจนในรายที่มีหายใจเหนื่อย เขียว อกบุ๋ม การซับกระซ่าย ซึม หากกรณีที่มีระบบการหายใจล้มเหลวอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
- ให้ยาขยายหลอดลม ในรายที่มีภาวะหลอดลมตีบ
- การกายภาพบำบัดปอดเพื่อให้ขับเสมหะได้สะดวกและไม่อุดตัน
- รักษาภาวะอื่นๆ ตามอาการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างไกล “ปอดอักเสบ”
ควรดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรงอยู่เสมอ ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และอย่าลืมปลูกฝังสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด แยกของใช้กับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการรับเชื้อ หรือการอยู่ในสถานที่แออัด
นอกจากนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กๆ ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ป้องกันเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ อาทิ วัคซีนป้องการเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Influenza Type B (Hib vaccine), วัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae (Invasive Pneumococcal Disease vaccine; IPD vaccine), โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine )
หากเมื่อลูกมีอาการป่วยใดๆ ต้องรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที
“อย่าละเลยกับอาการเจ็บป่วยของลูกน้อย เพราะการเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ อาจนำไปสู่โรคร้ายที่คุณคาดไม่ถึงได้เช่นกัน”